ปลัดแรงงาน เร่งประชาสัมพันธ์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว |
|
|
|
Thursday, 12 May 2011 07:00 |
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- พฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2554 18:06:37 น.
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนามาตรการจัดระบบแรงงาน ต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2554 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง และทำงานอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งผู้ติดตาม ซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 15 ปี ที่มีประมาณ 2 ล้านคน เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย (มท.) จะออกประกาศผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในไทยเป็นการชั่วคราว 1 ปี โดยล่าสุด คาดว่าจะมีการออกประกาศได้ ภายในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้
โดยในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้เปิดให้นายจ้างยื่นคำร้องขอจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพ เขตพื้นที่ 1-10 ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. ถึง 14 ก.ค. 2554 ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ทำอาชีพประมงจะขยายเวลาการยื่นคำร้องออกไปอีก 30 วัน โดยสามารถยื่นคำร้องได้ใน 22 จังหวัดตามชายฝั่งทะเลที่มีท่าเรือ ทั้งนี้ นายจ้างจะเสียค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวไม่เกิน 3,380 บาทต่อคน เช่น ค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท ค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงแรงงาน ช่วยกันประชาสัมพันธ์ในเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งนี้ ให้ทั่วถึงมากที่สุด โดยเฉพาะให้อาสาสมัครแรงงานที่มีกว่า 7,000 คน ช่วยเร่งทำความเข้าใจกับนายจ้าง ถึงผลประโยชน์ได้เสียว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหากนายจ้างไม่ให้ความร่วมมือ ก็อาจจะต้องมีการตัดโควตาการจ้างงานแรงงานต่างด้าวต่อไป
และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้าง ให้สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพ เขตพื้นที่ 1-10 ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ และโรงพยาบาล ในการจัดส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมกันจัดทำประวัติแรงงานต่างด้าว (ท.ร.38/1) และตรวจสุขภาพในจุดเดียว หรือ One Stop Service แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ให้ประสานจัดส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยในเรื่องของออกบัตรนัด เพื่อดำเนินการใน 2 เรื่องข้างต้น อีกทั้งให้ รวบรวมข้อมูลของแรงงานต่างด้าวส่งกลับมาที่กรมการจัดหางาน เพื่อออกใบอนุญาตทำงาน หรือ Work Permit ต่อไป
"การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าไทย ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นนโยบายเปิดประตู ปิดหน้าต่าง หากแรงงานต่างด้าวมีพาสปอร์ต วีซ่า เข้ามาโดยถูกต้องก็จะได้รับการดูแล แต่หากปีนหน้าต่างเข้ามา หรือมุดเข้ามา ก็จะเข้ามาไม่ได้ เพราะหากรู้จำนวนแรงงานต่างด้าวที่แน่นอน ก็จะเป็นประโยชน์ในเรื่องของความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอให้นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย มาขึ้นทะเบียนให้ครบถ้วน" นายสมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานจะ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งนายจ้าง ผู้ที่ให้พักพิง รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง และตัวแรงงานต่างด้าว หากถูกตรวจพบจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 โดยนายจ้าง/สถานประกอบการ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อการจ้างงานแรงงานต่างด้าว 1 คน ส่วนแรงงานต่างด้าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
|