Saturday April 20, 2024
News Feeds:
ประเทศไทย (กลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง) PDF Print E-mail
Tuesday, 10 July 2012 23:38

ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี  เหยื่อจากประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งจากประเทศจีน เวียดนาม รัสเซีย อุซเบกิสถานและฟิจิ อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างเต็มใจด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ปัญหาความยากจน  คนจากประเทศพม่าซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มผู้ย้ายถิ่นในไทยเข้ามาแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ  เหยื่อค้ามนุษย์ที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกบังคับ ขู่เข็ญหรือล่อลวงมาเพื่อการแสวงประโยชน์บังคับใช้แรงงานหรือในธุรกิจทางเพศ หรือเป็นเด็กที่ทำงานในวงการค้าประเวณี  มีการประมาณการอย่างต่ำว่า จำนวนประชากรกลุ่มนี้น่าจะมีหลายหมื่นคน  เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานในไทยจำนวนมากมักถูกแสวงประโยชน์ในอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการประมง การผลิตเสื้อผ้าราคาถูก โรงงานต่างๆ และงานรับใช้ตามบ้าน  และบางคนถูกบังคับให้ขอทานตามถนน

ผลการวิจัยที่เปิดเผยในปี พ.ศ. 2553 ระบุว่า ร้อยละ 23 ของชาวกัมพูชาที่ถูกทางการไทยส่งตัวกลับประเทศที่ชายแดนในเขตปอยเปตเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  การศึกษาของโครงการความร่วมมือหลายหน่วยงานของสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (UN Inter-Agency Project on Human Trafficking: UNIAP) พบว่า ในแต่ละปี ทางการไทยส่งตัวเหยื่อค้ามนุษย์ชาวกัมพูชากว่า 23,000 คนกลับประเทศ  ในทำนองเดียวกัน ทางการลาวรายงานว่า ในจำนวนชาวลาวหลายพันคนที่ถูกทางการไทยส่งตัวกลับประเทศมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ชาวลาวประมาณ 50-100 คนรวมอยู่ด้วย  จากการประเมินความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานในกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวพม่าในโรงงานอาหารทะเลที่จังหวัดสมุทรสาครพบว่า ร้อยละ 57 ของคนงานกลุ่มนี้ผ่านประสบการณ์ที่เป็นสภาพของการถูกบังคับใช้แรงงาน  รายงานที่องค์การระหว่างประเทศแห่งหนึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 พบว่า มีการบังคับใช้แรงงานในลักษณะต่างๆ เช่น แรงงานขัดหนี้ ในกลุ่มแรงงานกัมพูชาและพม่าที่ทำงานในอุตสาหกรรมประมงของไทยโดยบางคนถูกบังคับหรือถูกล่อลวงมา  รายงานดังกล่าวระบุว่า ชายชาวพม่า กัมพูชา และไทยถูกค้าแรงงานตามเรือประมงของไทยที่แล่นทั่วน่านน้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และนอกน่านน้ำนี้  คนเหล่านี้ต้องอยู่บนเรือกลางทะเลนานหลายปีโดยไม่ได้รับค่าแรง และถูกบังคับให้ทำงานวันละ 18-20 ชั่วโมงเป็นเวลาเจ็ดวันต่อสัปดาห์ รวมทั้งถูกข่มขู่และถูกทุบตี  ผลการสำรวจของสหประชาชาติก่อนหน้านี้ยังพบเช่นเดียวกันว่า ในจำนวนคนต่างด้าวที่ถูกค้าแรงงานบนเรือประมงไทยที่ได้รับการสำรวจ 49 คน มี 29 คน (ร้อยละ 58) ที่กล่าวว่า เคยเห็นเพื่อนคนงานถูกไต้ก๋งเรือฆ่าตายเมื่อคนงานอ่อนแอหรือป่วยจนไม่สามารถทำงานได้  เนื่องจากในภูมิภาคนี้ การประมงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีการวางระเบียบกำกับ โดยทั่วไป แรงงานบนเรือประมงจึงไม่ได้มีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรกับนายจ้าง  แรงงานชายชาวไทย พม่าและกัมพูชาที่ถูกบังคับให้ทำงานในเรือประมงในน่านน้ำไทยและน่านน้ำสากลได้รับการช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามและติมอร์ตะวันออก  ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า นักค้ามนุษย์ (รวมทั้งนายหน้าหาแรงงาน) ซึ่งนำคนต่างด้าวเข้ามาในไทยโดยทั่วๆ ไปทำงานตามลำพังหรือทำงานแบบกลุ่มที่ไม่ได้จัดตั้งเป็นทางการ ในขณะที่นักค้ามนุษย์ที่หลอกคนไทยไปค้าในต่างประเทศจะทำงานเป็นกลุ่มที่จัดตั้งเป็นทางการมากกว่า  นายหน้าจัดหาแรงงานซึ่งโดยมากทำงานแบบไม่มีกฎหมายหรือระเบียบกำกับทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างแรงงานที่หางานกับนายจ้าง  บางคนช่วยอำนวยความสะดวกหรือมีส่วนในการค้ามนุษย์  ผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับข้อมูลในเรื่องนี้รายงานด้วยว่า นายหน้าประเภทนี้มีทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติและทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายโดยร่วมมือกับนายจ้างและบางครั้งก็ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย  แรงงานต่างด้าว ชนกลุ่มน้อยและบุคคลไร้สัญชาติในไทยมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากที่สุด  คนกลุ่มนี้ถูกนายจ้างยึดเอกสารเดินทาง บัตรขึ้นทะเบียนผู้ย้ายถิ่นและใบอนุญาตทำงาน  แรงงานที่ไม่มีเอกสารยังคงมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากเป็นพิเศษเนื่องจากฐานะทางการเงิน ระดับการศึกษา อุปสรรคด้านภาษาและการขาดความรู้เรื่องกฎหมายไทย  ในช่วงปีที่ผ่านมา คนเหล่านี้มีความเสี่ยงมากขึ้นเมื่ออุทกภัยร้ายแรงทำให้แรงงานต่างด้าวอย่างน้อย 200,000 คนต้องละถิ่นที่พัก  มีรายงานว่า ในบรรดาผู้ที่พยายามกลับประเทศตนเพื่อความปลอดภัยนั้น กลุ่มแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและกลุ่มที่ถูกนายจ้างยึดเอกสารถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายและนายหน้ากรรโชกเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการกลับประเทศ  แรงงานที่ถูกเรียกค่าธรรมเนียมสูงมากต้องอยู่ในไทยต่อไปโดยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  ส่วนผู้ที่ได้กลับประเทศก็ต้องเผชิญวงจรที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการทำงานแบบแรงงานขัดหนี้และการถูกแสวงประโยชน์รูปแบบอื่นๆ

การขาดเอกสารยังคงเป็นเหตุให้แรงงานต่างด้าวเสี่ยงถูกแสวงประโยชน์  ในภาคเหนือของไทย การไร้สัญชาติเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงชาวเขามีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์  เด็กจากประเทศเพื่อนบ้านบางคนถูกพ่อแม่หรือนายหน้าบังคับให้ขายดอกไม้ ขอทานหรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตตัวเมือง  องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า เด็กที่ทำงานในธุรกิจแสวงประโยชน์ทางเพศที่มีบัตรประจำตัวปลอมทำงานในร้านคาราโอเกะหรือสถานบริการอาบอบนวดมีจำนวนเพิ่มขึ้น  ในช่วงปีที่ผ่านมา พบหญิงชาวเวียดนามที่ถูกจำกัดบริเวณและถูกบังคับให้ทำหน้าที่อุ้มบุญเด็กในครรภ์หลังจากถูกหลอกพาเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ  เหยื่อคนไทยส่วนใหญ่ที่พบในช่วงปีที่ผ่านมาทำงานในธุรกิจค้าประเวณี  การค้าเด็กไทยและเด็กต่างด้าวเพื่อธุรกิจทางเพศยังคงเป็นข้อห่วงใยสำคัญ  เหยื่อชาวไทยถูกหลอกว่าจะพาไปทำงานในต่างประเทศและถูกหลอกให้ต้องกู้หนี้จำนวนมากเพื่อจ่ายเป็นค่านายหน้าและค่าจัดการหางาน บางครั้ง ก็ใช้ที่ดินที่ครอบครัวถือสิทธิ์มาเป็นหลักทรัพย์ประกัน ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงถูกแสวงประโยชน์เมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง  เหยื่อชาวไทยส่วนใหญ่ที่พบในต่างประเทศในช่วงปีที่ผ่านมาทำงานในธุรกิจค้าประเวณี  เหยื่อได้รับความช่วยเหลือกลับประเทศจากสถานทูตไทยในบาห์เรน ญี่ปุ่น มาเก๊า รัสเซีย แอฟริกาใต้ มัลดีฟส์ โอมานและอินโดนีเซีย  นอกจากนี้ ยังมีคนไทยบางส่วนที่ถูกบังคับใช้แรงงานหรือทำงานในธุรกิจค้าประเวณีในออสเตรเลีย แคนาดา จีน เยอรมนี อิสราเอล คูเวต ลิเบีย มาเลเซีย กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา ไต้หวัน ติมอร์ตะวันออก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เวียดนามและเยเมน  แรงงานชายไทยบางรายที่เดินทางไปในต่างประเทศเพื่อทำงานที่ใช้ทักษะต่ำและงานในภาคเกษตรต้องเผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงานและมีสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้  เหยื่อค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีโดยทั่วไปเป็นผู้หญิงและเด็กหญิง  การท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศยังคงเป็นปัญหาในประเทศไทย และอุปสงค์ดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งผลักดันให้มีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณี  ประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์จากเกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม ปากีสถานและพม่าซึ่งจะถูกส่งไปค้าในประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก  มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเกณฑ์เด็กวัยรุ่นมาร่วมปฏิบัติการก่อการร้าย

รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ และยังไม่ได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า ได้เพิ่มความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังคงถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน  ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3 เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอแผนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งหากได้รับการดำเนินการจะถือว่าเป็นการแสดงความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ และรัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรพอควรในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว  รัฐบาลยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการนำกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มาบังคับใช้ตลอดจนจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์  ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้ดำเนินการกำหนดกฎระเบียบที่อนุญาตให้เหยื่อค้ามนุษย์ชาวต่างด้าวสามารถพำนักและทำงานชั่วคราวในไทยโดยได้อนุญาตให้สิทธินี้แก่เหยื่อการค้ามนุษย์ไปแล้ว 30 คน  การดำเนินคดีและการพิพากษาลงโทษคดีค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณีและการบังคับใช้แรงงานยังคงมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับขอบเขตและและขนาดของธุรกิจการค้ามนุษย์ในไทย  ความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิผลพอควรเนื่องจากทางการไม่สามารถระบุหาและคุ้มครองเหยื่อได้เพียงพอ  และนโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวของประเทศยังคงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ตลอดจนไม่ส่งเสริมให้เหยื่อพยายามติดต่อกับทางการ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ไม่มีเอกสาร  มีรายงานว่า การที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีส่วนร่วมโดยตรงหรืออำนวยความสะดวกแก่การค้ามนุษย์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในไทย  ทางการรายงานว่า กำลังสืบสวนคดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายมีส่วนพัวพันในการค้ามนุษย์สามคดี แต่ไม่มีการดำเนินคดีหรือพิพากษาตัดสินเจ้าหน้าที่เหล่านี้ในช่วงปีที่ผ่านมา  รัฐบาลไทยได้เชิญผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยการค้ามนุษย์มาไทยเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554  ในการแถลงข่าวหลังการมาเยือน ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยการค้ามนุษย์แถลงว่าได้พบข้อบกพร่องต่างๆ ของไทยซึ่งได้แก่ ความไม่เข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศ การขาดความพยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเพียงพอ ปัญหาทุจริตในกลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงความล้มเหลวในการระบุหาตัวเหยื่อและคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเหยื่อ  รัฐบาลไทยตกลงที่จะให้เงินสนับสนุนและเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติห้าแห่งสำหรับแรงงานต่างด้าวชาวพม่าในไทยซึ่งดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานของพม่า และศูนย์เหล่านี้เปิดทำการเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2555

ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย: ประเทศไทยควรปรับปรุงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการระบุหาเหยื่อค้ามนุษย์ในประชากรกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารและชาวต่างด้าวที่ถูกผลักดันออกจากประเทศ และเพิ่มความพยายามให้มากยิ่งขึ้นในการฝึกเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าเกี่ยวกับปัจจัยบ่งชี้แรงงานบังคับใช้ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น การที่นายจ้างหรือนายหน้าจัดหางานยึดเอกสารเดินทางหรือเรียกเก็บเงินจนทำให้ลูกจ้างเป็นหนี้จำนวนสูงมาก ประเทศไทยควรยอมรับถึงสาเหตุที่ทำให้เหยื่อลังเลที่จะติดต่อกับทางการ พัฒนาและดำเนินงานขั้นตอนพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลซึ่งให้ความสำคัญสูงกับสิทธิและความปลอดภัยของแรงงานที่เสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการดำเนินการตามหน้าที่นี้  ไทยควรเพิ่มความพยายามในการสอบสวน ดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศและบังคับใช้แรงงาน และควรพิจารณาจัดตั้งแผนกเร่งรัดการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ของศาล  ไทยควรส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานสอบสวนให้มากขึ้น รวมทั้งกำหนดอำนาจของหน่วยงานให้ชัดเจนระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษ และควรเพิ่มความพยายามโดยเฉพาะในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการสอบสวน ดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์  ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้จัดหาแรงงานที่หลอกลวงและผู้บังคับใช้แรงงานจะถูกลงโทษทางอาญาอย่างเข้มงวด ปรับปรุงมาตรฐานและขั้นตอนการตรวจสอบแรงงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการตรวจสอบสถานประกอบการที่ละเมิดกฎหมายซึ่งรวมถึงมีการค้ามนุษย์ ตลอดจนปรับปรุงการดำเนินการเพื่อให้เหยื่อค้ามนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนสามารถเดินทาง ทำงาน และพักอาศัยนอกสถานพักพิง นอกจากนี้ ไทยควรเสนอทางเลือกที่ถูกกฎหมายทางอื่นให้เหยื่อค้ามนุษย์นอกเหนือจากการถูกส่งกลับประเทศต้นทางซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบาก  ประเทศไทยควรเพิ่มความพยายามในการให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับสิทธิของแรงงาน หน้าที่ที่นายจ้างพึงมีต่อแรงงานเหล่านี้ และช่องทางทางกฎหมายสำหรับเหยื่อการค้ามนุษย์ รวมทั้งวิธีการดำเนินการฟ้องร้องและเรียกค่าชดเชยความเสียหายจากนักค้ามนุษย์  ไทยควรเพิ่มความพยายามในกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและนายหน้าที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อลดความเสี่ยงที่แรงงานเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ และเพิ่มการรณรงค์ส่งเสริมความตะหนักรู้เกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์กับกลุ่มนายจ้างและลูกค้าบริการทางเพศ  นอกจากนี้ ไทยควรพยายามลดอุปสงค์ของแรงงานที่ถูกแสวงประโยชน์และให้สัตยาบันพิธีสารสหประชาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์ปี พ.ศ. 2543

การดำเนินคดี

ในช่วงเวลาของการทำรายงาน รัฐบาลไทยยังคงดำเนินความพยายามบังคับใช้กฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง  กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ระบุให้การค้ามนุษย์ทุกรูปแบบเป็นความผิดทางอาญาและระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นโทษที่ร้ายแรงพอควรและเทียบเท่ากับโทษสำหรับอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ เช่นการข่มขืน  สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่า ได้เริ่มดำเนินการสอบสวนคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 83 คดีในปี พ.ศ. 2554 โดยในจำนวนนี้เป็นคดีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณี 67 คดีและคดีบังคับใช้แรงงาน 16 คดีและมีผู้ต้องสงสัยกระทำผิด 155 คน จำนวนคดีนี้เพิ่มจากปี พ.ศ. 2553 ซึ่งทำการสอบสวน 70 คดี  จากการสอบสวนเหล่านี้ทำให้มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 67 คดีเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2553 ซึ่งมี 79 คดี  ผู้ต้องสงสัยกระทำที่ถูกสอบสวนส่วนใหญ่เป็นคนไทย  รัฐบาลรายงานว่า มีการพิพากษาตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 12 คดีในปี พ.ศ. 2554 โดยมีสองคดีที่ยืนยันได้ว่าเป็นคดีค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณี และรัฐบาลไม่ได้ให้ข้อมูลเพียงพอที่จะระบุได้ว่า อีก 10 คดีเป็นคดีค้ามนุษย์หรือไม่  จำนวนดังกล่าวนี้ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งมี 18 คดี  รัฐบาลมักจะเลือกที่ให้มีการเจรจายอมความอย่างไม่เป็นทางการมากกว่าดำเนินคดีอาญากับนายจ้างในคดีที่เกี่ยวกับการแสวงประโยชน์ด้านแรงงานกับแรงงานต่างด้าว  กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรมและมีอำนาจจำกัดในการสอบสวนคดีการค้ามนุษย์ได้เริ่มดำเนินการสืบสวนห้าคดีในช่วงปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ ได้โอนคดีต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติสี่คดี และส่วนอีกคดีนั้นยังคงอยู่ในระหว่างการสืบสวนที่กรมฯ เมื่อถึงปลายปี ในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ในการขยายหน่วยต่อต้านการค้ามนุษย์ของกรมฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เพิ่มจำนวนพนักงานจาก 12 คนเป็น 25 คน อย่างไรก็ดี ผลของการขยายหน่วยงานนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนนัก เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีรายงานว่า มีการสอบสวนคดีการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนร่างแก้ไขกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษซึ่งจะให้อำนาจแก่กรมฯ ในการสอบสวนคดีการค้ามนุษย์โดยไม่ต้องโอนคดีไปให้ตำรวจนั้นยังไม่ผ่านรัฐสภาในช่วงปีที่ผ่านมา  มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษเริ่มหารือถึงวิธีการแบ่งอำนาจหน้าที่ในการดูแลคดีการค้ามนุษย์หากมีการผ่านร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้

ตลอดปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้การฝึกอบรมเรื่องการค้ามนุษย์แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประมาณ 1,850 คน แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปีพ.ศ. 2551 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายส่วนใหญ่ยังคงดำเนินคดีการค้ามนุษย์ภายใต้กฎหมายอื่นอยู่  คดีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณีอาจได้รับการดำเนินคดีภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ในช่วงปี พ.ศ. 2554 ศาลได้พิพากษาคดีผู้กระทำผิดมาตรา 9 ของกฎหมายฉบับนี้จำนวน 34 คนโดยในจำนวนนี้อาจมีนักค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณีรวมอยู่ด้วย  มาตรา 9 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีนี้ห้ามการบังคับค้าประเวณีและความผิดในลักษณะคล้ายคลึงกัน

รัฐบาลไม่ได้เพิ่มความพยายามในการสอบสวนข้อกล่าวหาการค้ามนุษย์ในเรือประมงไทยมากเท่าที่ควร โดยมีรายงานว่า มีการสืบสวนคดีลักษณะดังกล่าวสามคดีในปี พ.ศ. 2554 เมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งมีสองคดี  หนึ่งในคดีนั้นสำนักตรวจคนเข้าเมืองเป็นผู้ชี้มูลคดีระหว่างการเข้าค้นสถานที่ ส่วนอีกสองคดีเป็นการร้องทุกข์ของเหยื่อ  มีโทรศัพท์สามครั้งไปยังสายด่วนขององค์การระหว่างประเทศแห่งหนึ่งว่าสงสัยมีกรณีค้ามนุษย์ในเรือประมง แต่ไม่มีการสืบสวนหรือดำเนินคดีแต่อย่างใด  การอบรมระบุชี้เหยื่อการค้ามนุษย์สำหรับเจ้าหน้าที่ในส่วนหน้ามีไม่เพียงพอ และความพยายามการสืบสวนก็ไม่ประสบผลในการชี้มูลคดีได้แม้จะทราบดีว่า มีการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงอย่างแพร่หลายก็ตาม  รัฐบาลรายงานว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ตำรวจน้ำได้ทำการตรวจสอบเรือประมงก่อนออกทะเลแต่ไม่พบกรณีน่าสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงานในปีพ.ศ. 2554  นอกจากนี้ แม้กองทัพเรือจะมีการตรวจสอบและเข้าค้นเรือประมงนอกชายฝั่งกว่า 1,000 ครั้งและสกัดแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารได้หลายพันคนซึ่งในจำนวนนี้อาจมีเหยื่อการค้ามนุษย์รวมอยู่ด้วย แต่กองทัพเรือก็ไม่ได้มีระบุกรณีต้องสงสัยว่ามีการค้ามนุษย์  เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 มีการชุมนุมประท้วงของแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาและพม่าที่โรงงานอาหารแปรรูปและอื่นๆ ในกาญจนบุรี สงขลาและในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ ท่ามกลางคำกล่าวหาว่า คนงานเหล่านี้ถูกยึดหนังสือเดินทาง ถูกหักเงินเดือน ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและถูกข่มขู่ว่าจะถูกเนรเทศกลับประเทศ  รัฐบาลรายงานว่าได้ให้ตำรวจดำเนินการสืบสวน แต่การสืบสวนเหล่านี้ก็ไม่มีผลให้มีการดำเนินคดีหรือพิพากษาคดีต่อไปแต่อย่างใด

ระบบตุลาการยังคงเชื่องช้าในการดูแลคดีอาญา ซึ่งรวมถึงคดีการค้ามนุษย์  นอกจากนี้ การผลัดเปลี่ยนบุคลากรบ่อยและการลดจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาล  ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดกฎหมายบางคนหนีออกนอกประเทศหรือข่มขู่เหยื่อหลังจากที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพิพากษาโทษมีจำนวนต่ำมากขึ้น  ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ศาลอุทธรณ์ยืนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อ พ.ศ. 2551 ที่พิพากษาว่า ผู้ต้องหาสองคนมีความผิดฐานค้ามนุษย์จำนวน 73 คนในโรงงานแกะกุ้งแห่งหนึ่ง ผู้กระทำผิดทั้งสองยังได้รับการประกันตัวเป็นอิสระอยู่เมื่อใกล้สิ้นสุดช่วงเวลาการทำรายงาน โดยขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาที่ศาลฎีกา 

ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของไทยยังคงให้ความร่วมมือกับทางการของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และมีรายงานว่า การประชุมการบริหารคดีทุกไตรมาสของเจ้าหน้าที่จากพม่า กัมพูชาและลาวได้ช่วยเร่งกระบวนการดำเนินคดีและทำให้ทางการพม่าสามารถจับผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ได้ห้าคน  ในระหว่างปีที่ทำรายงานนี้ รัฐบาลไทยได้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณีกลับไปอังกฤษเพื่อดำเนินคดี

ยังคงมีการทุจริตอย่างกว้างขวางในหมู่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการค้ามนุษย์  ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการกล่าวหาว่า มีการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ซึ่งรวมถึงคดีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณีและการบังคับใช้แรงงานต่างด้าว  มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า เจ้าหน้าที่ให้ความคุ้มครองซ่องโสเภณี สถานบริการทางเพศอื่นๆ ตลอดจนโรงงานอาหารทะเลและโรงงานเถื่อนจากการบุกเข้าค้นหรือการตรวจสอบ และเจ้าหน้าที่บางคนยังใช้บริการธุรกิจทางเพศกับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ด้วย  นอกเหนือจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ในลักษณะของการให้ความคุ้มครองระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจจากส่วนกลางที่ทำงานเฉพาะด้านนี้กับพื้นที่ที่มีการค้ามนุษย์ที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ถูกส่งไปประจำการด้วย  ไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ในระดับสถาบันมีการยอมให้มีการค้ามนุษย์  ในปี พ.ศ. 2554 กรมสอบสวนคดีพิเศษเริ่มดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายในท้องถิ่นฐานรับสินบนเพื่อให้ความคุ้มครองซ่องโสเภณีที่มีเด็กซึ่งเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ทำงานอยู่  ในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่มีการลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่คนใด  อย่างไรก็ดี การสืบสวนคดีเหล่านี้ก็ยังคงดำเนินอยู่  รัฐบาลไม่แสดงความคิดเห็นตอบต่อรายงานที่ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ไทยมีส่วนพัวพันกับกระบวนการค้าชาย หญิงและเด็กชาวพม่าซึ่งถูกส่งกลับพม่าเข้าไปอยู่ในเงื้อมมือของกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ (ดีเคบีเอ)  นอกจากนี้ ทางการก็ไม่ได้ตอบโต้รายงานที่ระบุว่า ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยขู่กรรโชกเรียกเงินหรือเพศสัมพันธ์กับชาวพม่าที่ถูกกักตัวอยู่ในไทยในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง และขายชาวพม่าที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าหัวคิวให้แก่นายหน้าจัดหาแรงงานและนักค้ามนุษย์เพื่อค้าประเวณี  ในช่วงปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ได้ดำเนินการตามนโยบายที่กระทรวงแรงงานได้ประกาศไว้ว่า จะไม่เนรเทศแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่อยู่นอกเขตอนุญาตกลับประเทศ ตัวอย่างเช่น แรงงานต่างด้าวจำนวนมากซึ่งไม่มีเอกสารขึ้นทะเบียนที่อนุญาตให้เดินทางนอกเขตอนุญาตที่ตนทำงานถูกทางการกักขังและจับกุม

การคุ้มครอง

ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยแสดงความพยายามอย่างจำกัดในการคัดแยกและให้ความคุ้มครองแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งสัญชาติไทยและต่างด้าว  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่า มีเหยื่อชาวต่างชาติ 392 คนถูกระบุว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทยและได้รับความช่วยเหลือจากสถานพักพิงของทางรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2553 ที่มีเหยื่อชาวต่างชาติ 381 คนที่ได้รับความช่วยเหลือ  กว่ากึ่งหนึ่งของเหยื่อที่ได้รับความช่วยเหลือในช่วงปีที่ผ่านมานั้นมาจากประเทศลาวและหนึ่งในสามมาจากพม่า  ในช่วงปีที่จัดทำรายงานนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษได้คัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวน 279 คน และส่งตัวเหยื่อชาวต่างชาติ 213 คนไปยังสถานพักพิง  เหยื่อชาวไทย 66 คนได้รับการส่งตัวกลับภูมิลำเนา  บางคนได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน  กองตรวจคนเข้าเมืองระบุตัวเหยื่อชาวกัมพูชาที่ถูกบังคับใช้แรงงานจำนวนเจ็ดคนจากเหตุการณ์บุกเข้าค้นเรือประมง อีกทั้งมีรายงานถึงชาวพม่าที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์บนเรือประมงเพิ่มเติมอีกห้าคนที่ได้ยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือมายังทางการ  กองบังคับการตำรวจน้ำรายงานการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์สองคนจากอุตสาหกรรมประมงในจังหวัดชุมพรในช่วงปีที่ผ่านมา  ในปีพ.ศ. 2554 กระทรวงการต่างประเทศของไทยรายงานว่าสถานทูตไทยในต่างประเทศให้ความช่วยเหลือชาวไทยจำนวน 46 คนที่อาจตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในบาห์เรน ญี่ปุ่น มาเก๊า รัสเซีย แอฟริกาใต้ หมู่เกาะมัลดีฟส์ โอมาน และอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงการส่งตัวกลับประเทศ  เหยื่อส่วนใหญ่ทั้งหญิงและชายถูกค้าบริการทางเพศ ขณะที่บางส่วนถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง  ในปีพ.ศ. 2554 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเทียบเท่า 1.9 ล้านเหรียญสหรัฐให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อนำไปจัดหาบริการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ และอีก 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐมอบให้กองทุนต่อต้านและปราบปรามการค้ามนุษย์  งบประมาณส่วนใหญ่ที่กระจายผ่านกองทุนในช่วงปีที่จัดทำรายงาน ซึ่งเป็นจำนวนประมาณ 626,750 เหรียญสหรัฐ นำไปสนับสนุนกิจกรรมต่อต้านและปราบปรามการค้ามนุษย์ของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรประชาสังคม  ส่วนเงินจำนวน 16,400 เหรียญสหรัฐได้นำไปแจกจ่ายช่วยเหลือเหยื่อ 103 คน

รัฐบาลรายงานการใช้กระบวนการที่เป็นระบบในการคัดกรองเหยื่อการค้ามนุษย์จากประชากรกลุ่มเสี่ยง อาทิ แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียนซึ่งอยู่ในระหว่างการกักกันตัว  อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่ไม่เพียงพอของรัฐบาลในการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์เป็นเหตุให้เหยื่อบางคนไม่ได้รับการระบุตัวในปีที่ผ่านมา  รัฐบาลไทยส่งตัวแรงงานอพยพที่ไม่ได้จดทะเบียนกลับประเทศต้นทางเป็นจำนวนนับแสนคนต่อปี ในปีพ.ศ. 2554 รัฐบาลคัดแยกตัวเหยื่อการค้ามนุษย์จากกลุ่มแรงงานดังกล่าวได้เพียง 56 คนเท่านั้น  เหยื่อจำนวนมากลังเลที่จะแสดงตัวว่าตนคือเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานอพยพที่ไม่ได้จดทะเบียนซึ่งหวาดเกรงว่าตนจะถูกดำเนินการทางกฎหมายจากทางการ  นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนหน้ายังไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอให้สามารถคัดแยกบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

ปีพ.ศ. 2554 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดอบรมเจ้าหน้าที่รัฐเกือบ 2,000 คนเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และรับรองเป็น “พนักงานเจ้าหน้าที่” ในด้านนี้  เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายขาดความตระหนักรู้ในลักษณะสำคัญของการค้ามนุษย์จึงมักระบุตัวเหยื่อผิดพลาดกับผู้คนที่ติดต่อด้วย  ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 ทางการบุกค้นโรงงานแปรรูปกุ้งทางภาคใต้ของไทยและช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวพม่าที่ถูกบังคับใช้แรงงานจำนวนสี่คนหลังได้รับข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง  แม้ทางการจะระบุว่าเหยื่อทั้งสี่คนต้องตกอยู่ในสภาพการเป็นแรงงานขัดหนี้ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการค้ามนุษย์ รัฐบาลกลับล้มเหลวที่จะรับรองว่าแรงงานเหล่านี้คือเหยื่อการค้ามนุษย์และไม่ได้เสนอการคุ้มครองช่วยเหลือ  เหยื่อกลุ่มนี้ถูกกักกันตัวและส่งกลับประเทศในท้ายที่สุด แสดงให้เห็นว่าทางการยังคงขาดความเข้าใจในลักษณะสำคัญของการค้ามนุษย์  แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียนบางคนไม่ได้รับการพิจารณาคัดแยกว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เนื่องมาจากสถานภาพการเข้าเมืองของพวกเขา  เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายบางคนมักเชื่อว่าการกักกันทางกายภาพหรือกักขังหน่วงเหนี่ยวคือปัจจัยสำคัญที่จะยืนยันการค้ามนุษย์ โดยไม่ได้ตระหนักว่าการบังคับขู่เข็ญนอกเหนือจากทางกายภาพเพื่อแสวงประโยชน์จากหนี้และความกลัวถูกส่งตัวกลับประเทศของแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นก็จัดอยู่ในการค้ามนุษย์เช่นกัน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ทางการช่วยเหลือเด็กหกคนที่ถูกให้สารเสพติดและบังคับขอทานตามถนนในเวลากลางคืน กล่าวกันว่าบางรายยังถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย  ในขณะที่รัฐบาลระบุตัวเด็กคนหนึ่งว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ อีกคนหนึ่งเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศแล้วนำตัวทั้งสองเข้ารับบริการคุ้มครอง เด็กคนอื่นๆ กลับถูกตัดสินว่าไม่ใช่เหยื่อเพราะมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับผู้ดำเนินการค้ามนุษย์ ต่อมาภายหลังจึงได้ส่งเด็กสองคนเข้ารับการคุ้มครองดูแล  เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้นที่มีอำนาจชี้ชัดรับรองว่าบุคคลใดเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  ในระหว่างปี มีรายงานว่าบางครั้งนักสังคมสงเคราะห์หรือตัวแทนจากภาคประชาสังคมก็ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

รัฐบาลไทยยังคงส่งตัวเหยื่อไปยังสถานพักพิงหนึ่งในเก้าแห่งที่ดำเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อรับบริการการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำกัด และการดูแลทางการแพทย์ แม้สถานพักพิงเหล่านี้จะไม่ได้มีทรัพยากรบุคคลรองรับให้ความช่วยเหลืออย่างเพียงพอเสมอไป เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติที่ทางการระบุตัวยังคงถูกกักกันในสถานพักพิงของรัฐบาล  และโดยปกติแล้วยังไม่สามารถเลือกที่จะไปพักข้างนอกได้หรือออกจากสถานพักพิงได้ก่อนที่ทางการไทยจะเตรียมส่งตัวกลับประเทศต้นทาง  สถานพักพิงเหยื่อค้ามนุษย์สองแห่งของรัฐต้องปิดตัวลงชั่วคราวเกือบสองเดือนในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม โดยเหยื่อในสถานพักพิงดังกล่าวถูกส่งตัวไปยังสถานพักพิงอื่นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ในปีพ.ศ. 2554 กระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยออกบทบัญญัติให้สิทธิแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติในการทำงานในขณะที่รอการดำเนินการคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายให้แล้วเสร็จ นับแต่นั้นมา รัฐบาลได้ให้สิทธินี้แก่เหยื่อการค้ามนุษย์ที่ถูกบังคับใช้แรงงานแล้วประมาณ 30 คน  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ไม่ได้รายงานเกณฑ์คุณสมบัติมาตรฐานของเหยื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ แต่รายงานว่าจะพิจารณาเหยื่อที่ถูกบังคับใช้แรงงานเป็นกรณีไป  ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิได้รับวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวซึ่งมีอายุหกเดือน และต่ออายุได้ตามระยะเวลาที่คดีความยังดำเนินอยู่  การขยายสิทธิประโยชน์นี้ไปยังเหยื่อการค้ามนุษย์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นจะสร้างแรงจูงใจให้เหยื่อยังคงพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยตลอดช่วงเวลาดำเนินคดีตามกฎหมาย  เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้จัดหาบริการเฉพาะทางสำหรับเหยื่อการค้าบริการทางเพศที่เป็นเด็ก อีกทั้งการบังคับส่งตัวเหยื่อที่ไม่ยินยอมให้การยืนยันตัวผู้ค้ามนุษย์กลับประเทศ ส่งผลให้เหยื่อหลายคนถูกพากลับมาขายอีกครั้ง  ในช่วงปีที่ผ่านมา มีรายงานว่ามีเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติหลบหนีออกจากสถานพักพิง  โดยน่าจะมีสาเหตุมาจากกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการส่งตัวกลับประเทศที่ล่าช้า ตลอดจนการที่ไม่สามารถหารายได้ในช่วงการพิจารณาคดี มีอุปสรรคทางภาษาและความไม่วางใจในเจ้าหน้าที่ของรัฐ  มีรายงานเหตุการณ์ที่เหยื่อเลือกที่จะไม่ถูกคัดแยกว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เนื่องจากขาดความแรงจูงใจจากระบบเช่น การอาศัยในสถานพักพิงเป็นระยะเวลายาวนานในช่วงกระบวนการส่งตัวกลับประเทศและกระบวนการศาลที่ยาวนาน  เหยื่อจำนวนมากในกลุ่มนี้ถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง  อย่างน้อยหนึ่งกรณีในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุญาตให้เหยื่อที่เป็นเด็กพักอาศัยอยู่ในสถานพักพิงที่ดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งพิจารณาแล้วว่าสามารถตอบสนองความต้องการของเหยื่อเหล่านั้นได้เพียงพอกว่า  องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า เหยื่อค้ามนุษย์บางคนได้รับการอบรมจากนายหน้าให้โกหกเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกระบุตัวว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์หรือหลบหนีออกจากสถานพักพิง  มีรายงานว่าการประชุมจัดการคดีรอบไตรมาสกับประเทศพม่าและลาวช่วยเร่งกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและส่งตัวกลับประเทศระหว่างทั้งสามประเทศให้รวดเร็วยิ่งขึ้นในปีที่ผ่านมา  เหยื่อชาวอุซเบกิสถานบางคนถูกย้ายออกจากสถานพักพิงเพื่อส่งต่อไปยังสถานทูตอุซเบกิสถานในประเทศไทยหลังเหตุทะเลาะวิวาทกับเหยื่อรายอื่น

กฎหมายไทยคุ้มครองเหยื่อจากการดำเนินคดีในการกระทำความผิดที่เป็นผลมาจากการถูกค้ามนุษย์ และผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าโดยทั่วไปแล้วรัฐบาลไทยเคารพสิทธิของเหยื่อที่ได้รับการชี้ตัว  อย่างไรก็ตาม กระบวนการคัดแยกเหยื่อของรัฐบาลไทยมีข้อบกพร่อง  อีกทั้งความพยายามเชิงรุกของทางการเพื่อจับกุมและส่งตัวผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกลับประเทศทำให้เหยื่อบางรายต้องรับโทษ  โดยทั่วไป รัฐบาลสนับสนุนเหยื่อการค้ามนุษย์ให้มีส่วนร่วมในการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดข้อหาค้ามนุษย์ แม้เหยื่อบางคนเลือกที่จะไม่ร่วมมือในการสอบสวนเพราะกลัวถูกลงโทษ  หลายรายหลบหนีออกจากสถานพักพิงหรือพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกระบุตัวว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  ในรอบปีที่ผ่านมา ทางการดำเนินคดีฟ้องร้องทางแพ่งและเจรจาเรียกร้องค่าเสียหายชดเชยให้กับเหยื่อการค้าแรงงานทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 11,000 เหรียญสหรัฐ  อุปสรรคด้านค่าใช้จ่ายที่สูงในการดำเนินการทางกฎหมาย ภาษา ระบบราชการและการเข้าเมือง รวมถึงความกลัวที่จะถูกนักค้ามนุษย์แก้แค้น ความไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ไทย กระบวนการทางกฎหมายที่ล่าช้า และความจำเป็นทางด้านการเงินของเหยื่อ กีดกันไม่ให้เหยื่อเข้าร่วมกระบวนการทางกฎหมาย  การที่อุตสาหกรรมประมงขาดบทบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และแรงงานบนเรือประมงขาดเล็กขาดการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทำให้ประชากรกลุ่มนี้ถูกแสวงประโยชน์ได้ง่าย  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อขยายความคุ้มครองไปยังเรือทุกลำที่มีแรงงานร่วมออกเรือด้วยตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป ทว่าการแก้ไขนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ในปีที่จัดทำรายงานฉบับนี้  แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปีพ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติในประเทศไทยที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติได้รับสถานะผู้พักอาศัยถาวรเป็นกรณีไป รัฐบาลไทยยังไม่ได้รายงานว่าได้ให้สถานะผู้พักอาศัยถาวรแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติคนใดๆ

การป้องกัน

รัฐบาลไทยแสดงความพยายามในระดับหนึ่งในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชน  แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างเพียงพอในการลดความต้องการแรงงานที่ถูกบังคับใช้แรงงานและแสวงหาประโยชน์  ในขณะที่บางกิจกรรมมุ่งส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านการค้ามนุษย์ให้กับสังคมไทยโดยรวม บางกิจกรรมก็มุ่งเน้นส่งเสริมความตระหนักรู้ให้แก่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง  รัฐบาลประมาณการว่าตลอดปีพ.ศ. 2554 รัฐบาลได้เข้าถึงประชาชนกว่า 7,500 คนทั่วประเทศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และหน่วยงานประสานติดตามผลยังคงประชุมกันโดยสม่ำเสมอตลอดปีพ.ศ. 2554 แต่จำนวนน้อยลงกว่าในปีก่อนๆ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและภาวะน้ำท่วมรุนแรง  ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 รัฐบาลไทยตีพิมพ์รายงานความพยายามของรัฐบาลในการปราบปรามและต่อต้านการค้ามนุษย์ซึ่งล่าช้ามาจากปีพ.ศ. 2553 และในเดือนมีนาคม 2555 ได้เริ่มใช้แผนดำเนินการแห่งชาติระยะเวลาสองปีเพื่อเป็นแนวทางสำหรับความพยายามในอนาคต  รัฐบาลรายงานว่าได้เริ่มดำเนินการเพื่อออกข้อกฎหมายใหม่สำหรับคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมประมงซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างยิ่ง รวมถึงจัดทำรายการอาชีพอันตรายสำหรับเด็ก แม้ทั้งสองโครงการจะยังไม่ได้ข้อสรุปเสร็จสิ้นหรือเริ่มบังคับใช้แต่อย่างใด  รัฐบาลยังได้แจกจ่ายใบปลิว 150,000 ใบซึ่งเขียนด้วยภาษาที่ใช้กันทั่วไปในหมู่แรงงานอพยพจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ความรู้แก่แรงงานเกี่ยวกับสิทธิของตนและหน้าที่ของนายจ้างที่มีต่อลูกจ้าง  ระหว่างปีพ.ศ. 2554 มีการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตการทำงานในประเทศไทยให้แก่ผู้อพยพ 851,830 คน ตามโครงการการพิสูจน์สัญชาติและให้อภัยโทษแก่แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักรของรัฐบาล โครงการดังกล่าวอนุญาตให้แรงงานได้รับวีซ่าการทำงานอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทยและเข้าถึงสิทธิมากยิ่งขึ้นภายในประเทศไทย  ผู้สังเกตการณ์ยังคงกังวลอยู่ว่า กระบวนการที่จะทำให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเข้ามาเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บจากนายหน้าจัดหางานที่ไม่มีใบอนุญาตและไม่มีการควบคุมกำกับดูแลจากทางการนั้นจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวมีความอ่อนไหวที่จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และติดอยู่ในพันธนาการหนี้  ในบางกรณี คนงานรายงานว่ามีหนี้สินที่ต้องจ่ายให้กับนายจ้างมากถึง 700 เหรียญสหรัฐสำหรับดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามที่กฎหมายกำหนด ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ฝึกอบรมนักแปลภาษาจำนวน 49 คน รวมถึงจัดทำรายชื่อนักแปลที่ผ่านการฝึกฝนแล้วเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรัฐในการตอบข้อซักถามที่เป็นภาษาต่างประเทศจากโทรศัพท์สายด่วนเกี่ยวกับการค้ามนุษย์  อย่างไรก็ตาม ระบบโทรศัพท์สายด่วนแบบกระจายศูนย์ของรัฐบาลทำให้เป็นการยากที่จะประกันได้ว่าหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ที่ส่งต่อไปนั้นจะตอบข้อซักถามได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผลเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์ที่มาจากบุคคลที่ไม่ใช่คนไทย

ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบการของบริษัทจัดหาแรงงานสองแห่งจากทั้งหมดเก้าแห่งที่ถูกสั่งระงับกิจการเมื่อปีก่อนหน้า และเริ่มดำเนินการสอบสวนคดีละเมิดกฎหมายแรงงานจำนวน 321 คดี  อย่างน้อยสองคดีเกี่ยวข้องกับข้อหาการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งศาลแรงงานตัดสินให้นายจ้างสองรายชำระค่าปรับเทียบเท่า 3,000 เหรียญสหรัฐ และตัดสินจำคุก 11 เดือนผู้กระทำความผิดอีกรายโดยรอลงอาญาสองปี  จากการสุ่มตรวจในสนามบิน กรมการจัดหางานรายงานว่าได้คัดแยกบุคคล 481 คนซึ่งเดินทางโดยฉ้อฉลและห้ามไม่ให้ออกนอกประเทศในปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้มีความพยายามคัดแยกบุคคลที่สุ่มเสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือส่งต่อกรณีทีอาจเข้าข่ายค้ามนุษย์ไปยังหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย  รัฐบาลสร้างความตระหนักรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการซื้อบริการทางเพศกับเด็ก และส่งตัวผู้ต้องหาพรากผู้เยาว์คนหนึ่งไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ไม่ได้มีความพยายามอื่นในการลดความต้องการบริการทางเพศเพื่อการพาณิชย์หรือการใช้แรงงานบังคับ  กระบวนการคักแยกเหยื่อที่ไม่เพียงพออาจทำให้เหยื่อบางคนถูกปฏิบัติอย่างผู้ฝ่าฝืนกฎหมายหลังจากตำรวจเข้าบุกค้นซ่องโสเภณี  รัฐบาลไทยไม่ได้จัดฝึกอบรมด้านการต่อต้านและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้กองกำลังก่อนเดินทางไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพระหว่างประเทศในต่างแดน  ประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันพิธีสารสหประชาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2543

ที่มา: http://thai.bangkok.usembassy.gov/tipthaireport12-t.html

 
Copyright © 2024. Anti Labor Trafficking - โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน.