Saturday April 20, 2024
News Feeds:
เสรีอาเซียน-เสรีค้ามนุษย์? PDF Print E-mail
Monday, 26 December 2011 00:00

   หลังจากยักษ์ใหญ่อเมริกาเปิดรายงานประจำปีว่าด้วยการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report) ฉบับล่าสุดปี 2554 เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าสหรัฐจะหั่นความช่วยเหลือประเทศไหนดี ผลปรากฏว่าประเทศไทยได้คะแนนเท่าเดิมเหมือนปี 2553 คือ “ระดับ 2 บัญชีต้องจับตามอง” หมายความว่า ยังมีการค้ามนุษย์อยู่มากและรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจแก้ปัญหามากเท่าที่ควร เรียกว่าเกือบบ๊วย เพราะระดับ 3 คือระดับสุดท้าย หากประเทศไหนอยู่ระดับ 3 คือไม่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมีการค้าแรงงาน ค้าเด็ก ค้าผู้หญิง ฯลฯ จะถูกตัดความช่วยเหลือบางประการ โดยตัวเลขเหยื่อแก๊งการค้ามนุษย์ทั่วโลกขณะนี้มีสูงกว่า 12 ล้านคน

    รายงานค้ามนุษย์ข้างต้นจัดทำมาต่อเนื่องกว่า 10 ปี กระทรวงการต่างประเทศของอเมริกาแบ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกออกเป็น 4 ระดับ (Tier) ดังนี้ “ระดับ 1” (Tier 1) ประเทศที่รัฐบาลทำได้ดีในการป้องกันและการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา ฯลฯ “ระดับ 2” (Tier 2) ประเทศที่ยังทำไม่ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ แต่กำลังใช้ความพยายาม เช่น มาเลเซีย ต่อไปคือ “ระดับ 2 ขึ้นบัญชีจับตามอง” (Tier 2 Watch list) ถือเป็นประเทศในระดับ 2 ที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์มีสูงมากหรือกำลังเพิ่มสูง เช่น เวียดนาม ลาว บรูไน อัฟกานิสสถาน จีน อินเดีย ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 58 ประเทศ สุดท้ายคือ “ระดับ 3” (Tier 3) หมายถึงประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันช่วยเหลือเหยื่อหรือจับกุมผู้ค้ามนุษย์ ปีนี้มี 13 ประเทศ เช่น พม่า ปาปัวนิวกินี อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ  
 
     สรุปสั้นๆ ว่า ประเทศไทยเป็นอันดับรองบ๊วยนั่นเอง ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายเอ็นจีโอด้านคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้จัดเสวนาหัวข้อ “กฎหมายค้ามนุษย์กับสังคมไทย และประชาคมอาเซียน” มีการถอดบทเรียนวิธีแก้ปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ที่ผ่านมา เช่น คดีแก๊งขนแรงงานเถื่อน คดีอุ้มบุญหญิงชาวเวียดนาม ส่วนใหญ่แม้ประเทศไทยจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 แต่ผ่านไป 4 ปีดูเหมือนสถานการณ์จะรุนแรงขึ้น โศกนาฏกรรมของเหยื่อค้ามนุษย์ถูกรายงานผ่านสื่อมวลชนไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งการทรมานแรงงานต่างด้าว ค้าประเวณีเด็กชาย ขอทานเถื่อน กักขังหญิงสาวในซ่อง ฯลฯ สุดท้ายแม้จะดำเนินคดีก็ไม่สามารถสาวไส้ไปถึงหัวหน้าแก๊งค้ามนุษย์เหล่านี้ได้ 
 
     สุรพงษ์ กองจันทึก คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ กล่าวด้วยความหนักใจว่า ในอีก 4  ปีข้างหน้า ปี พ.ศ.2558 จะเกิดประชาคมอาเซียน ซึ่งหวั่นใจว่า “เสรีอาเซียนจะเป็นเสรีค้ามนุษย์” หมายถึงการเปิดเสรีการค้าเด็ก ค้าหญิง ค้าแรงงานต่างด้าว การเคลื่อนไหวของแก๊งค้าแรงงานและค้าเซ็กส์จะทำได้ง่ายดายและสะดวกมากขึ้น ดังนั้นผู้มีอำนาจหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่รัฐต้องเริ่มคิดพิจารณาอย่างจริงจังว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
 
     ในฐานะผู้ทำงานสัมผัสกับเหยื่อโดยตรง “จักรกริสน์ จันทร์แสง” ตัวแทนองค์การเซฟเดอะ ชิลเดรน (Save the Children) เปิดเผยว่า การทำงานช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น บางคนเต็มใจเป็นเหยื่อ หรือบางคนอาจไม่รู้ตัวว่าเป็นเหยื่อ ในอดีตเวลาไปช่วยผู้หญิงและเด็กออกมาจากซ่องทุกคนจะดีใจที่ได้หลุดพ้นจากการคุมขัง คนที่ไปช่วยเหมือนฮีโร่ แต่เดี๋ยวนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ซ่องปัจจุบันส่วนใหญ่เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว มีหนังแผ่นวีซีดีให้ดู มีเพลงให้ฟัง เดินออกไปซื้อของได้ เด็กๆ มาจากพม่าแฮปปี้ แม้จะถูกกดขี่ได้ค่าขายบริการทางเพศแค่วันละ 50 บาท แต่ชีวิตก็ดีกว่าอยู่ในพม่าที่ไม่มีเงินใช้สักบาท เมื่อตำรวจนำตัวไปสอบปากคำก็ต้องตีความกันใหม่ เพราะพวกเขามาค้าประเวณีแบบไม่เศร้าไม่ได้ถูกทารุณกรรม ตำรวจก็ตีความว่าเป็นการสมยอมแทน ดังนั้นการดำเนินคดีควรเปลี่ยนรูปแบบจากเน้นกฎหมายอาญามาเป็นกฎหมายแพ่ง เพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เหยื่อกลุ่มนี้แทน เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตใหม่ได้ ถ้าเพียงแค่จับกุมแล้วส่งกลับพม่าหรือลาว เด็กบางคนจะปรับเปลี่ยนตัวเองจากเหยื่อหรือผู้เสียหายไปเป็นเอเย่นต์ค้ามนุษย์กลุ่มใหม่ โดยการชักชวนเพื่อนบ้านส่งมาทำงานในซ่องเมืองไทย
 
     สอดคล้องกับข้อมูลของ “สมพงค์ สระแก้ว” ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เล่าถึงประสบการณ์ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในโรงงานนรกว่า หลายกรณีที่มีแรงงานถูกขังแจ้งให้ไปช่วย พอตำรวจไปช่วยออกมาได้ทั้งหมดหลายสิบคน บางคนก็ไม่พอใจ เพราะเขามีงานทำ แม้ว่าจะทำงานหนักหรือได้ค่าแรงต่ำ แต่ก็ดีกว่ากลับไปอยู่ในหมู่บ้านที่ไม่มีอะไรจะกิน หากตำรวจจับตัวส่งกลับพม่า พวกเขาต้องดิ้นรนหาเงินมาให้นายหน้าค้ามนุษย์ใหม่ เพื่อกลับมาทำงานในโรงงานเดิมอีก กลายเป็นว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม ในวันนี้การทำงานช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ต้องเจาะข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียด แต่ละเคสควรมีข้อมูลให้แน่ชัดก่อนส่งดำเนินคดี ส่วนตัวแล้วแม้ไทยเข้าประชาคมอาเซียนอาจไม่ได้ช่วยให้ขบวนค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นหรือลดลง เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น
 
     สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวสรุปว่า เปิดเสรีประชาคมอาเซียนทำให้มีการเคลื่อนไหวของขบวนการค้ามนุษย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดดีที่กลไกเครือข่ายภาคประชาสังคมระหว่างประเทศต่างๆ สามารถร่วมมือกันทำงานกันง่ายขึ้นด้วย อยากเสนอการเปิดโอกาสให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวสามารถก่อตั้งสหภาพแรงงานของตัวเองขึ้นได้ในโรงงานหรือบริษัทต่างๆ เมื่อพวกเขารวมตัวกันเข้มแข็ง จะไม่มีใครรังแกได้ง่าย ควรสนับสนุนให้พวกเขาจับมือกันช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน เมื่อพวกเขาช่วยเหลือป้องกันตัวเองได้มากขึ้น สุดท้ายผลดีคือเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์ทั้งด้านแรงงานและเซ็กส์ในประเทศไทยจะลดลง

..............

(หมายเหตุ : ขึ้นบัญชีไทย'เสรีอาเซียน-เสรีค้ามนุษย์' : โต๊ะรายงานพิเศษ)

 
Copyright © 2024. Anti Labor Trafficking - โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน.