Friday April 26, 2024
News Feeds:
จี้รัฐดูแลแรงงานต่างด้าวตกเป็นเหยื่อ"นายจ้าง-เจ้าหน้าที่รัฐ" PDF Print E-mail
Friday, 30 September 2011 00:00

โดยภายในงานได้มีการเสวนาในหัวข้อ “กะเทาะสถานการณ์การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ สิทธิ ความหวังของแรงงาน และการดำเนินการของรัฐไทย” โดยมี นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชนติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน และนายภัทรวุธ เภอแสละ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา

เมื่อวันที่30 ก.ย. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  มูลนิธิดีเพื่อการทำงานที่เป็นประโยชน์ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความจัดสัมมนาเรื่อง “การเผยแพร่ข้อมูลการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแก่สื่อมวลชน”

นายภัทรวุธ กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนมา 6 ครั้งแล้ว โดยแต่ละครั้งผู้ประกอบการ และนายจ้างเป็นผู้เรียกร้องให้มีการเปิดการจดทะเบียนทุกครั้ง โดยในวันที่ 26 เม.ย. 2554 เป็นมติครั้งล่าสุดที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียน ซึ่งมีถึง 1 ล้าน 4 หมื่นคน ในจำนวนนี้เป็นคนพม่า 6 แสนคน ขณะที่ขั้นตอนการจดทะเบียน คือ กรมการปกครองจะเป็นผู้ทำการจดทะเบียน ออกเป็นทะเบียนราษฏร์ และออกใบ ทร.31/1 ให้ จากนั้นจะส่งให้กระทรวงสาธารณะสุข ตรวจสุขภาพ เพื่อขอใบอนุญาตจากกระทรวงแรงงานให้เข้าทำงานได้ และหลังจากนี้จะมีการพิสูจน์สถานะ เพื่อรับรองบุคคล เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เป็นถูกกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ 2 ปี และสามารถต่อทะเบียนได้ 2 ปี รวมเป็น 4 ปี

“ประเด็นปัญหาอยู่ที่เมื่อออก ทร.31/1 ให้แล้ว ไม่สามารถควบคุมแรงงานข้ามชาติได้ เพราะบางคนคิดว่าได้ใบ ทร.31/1แล้วก็หลบหนี ย้ายนายจ้างบ้าง ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าแม้จะมีใบ ทร.31/1 ก็ถือว่าเป็นแรงงานเถื่อนอยู่ดี หากไม่ทำการตรวจสุขภาพและขอใบอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน (workpermit) ส่วนสาเหตุที่แรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนทำงานไม่ทันนั้น มาจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งอาจมาจากชนกลุ่มน้อย ที่เป็นกะเหรี่ยง ม้ง ต้องการมีใบทร. 38/1 เท่านั้น แต่ไม่ต้องการทำงานในโรงาน อีกส่วนหนึ่งคือตรวจสุขภาพไม่ทัน เนื่องจากกระทรวงสาธารณะสุขจำกัดให้หน่วยบริการตรวจสุขภาพเป็นของโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น จึงทำให้แรงงานข้ามชาติตรวจสุขภาพไม่ทัน ” นายภัทรวุธ กล่าว

นายภัทรวุธ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงแรงงานได้ทำความเห็นส่งไปให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่ยังไม่ได้มีการตอบกลับมาว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ ในกรณีการขยายระยะเวลาการทำงานของแรงงานข้ามชาติที่มาจดทะเบียนเป็นแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสามารถทำงานจากเดิม 4 ปี เป็น 5 ปี เนื่องจากมีแรงงานข้ามชาติบางส่วนไม่ต้องการกลับประเทศ แต่ในระเบียบที่รัฐบาลไทยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับประเทศเพื่อนบ้าน คือ แรงงานข้ามชาติที่มาลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายสามารถทำงานในประเทศไทยได้ 2 ปี และเมื่อหมดอายุแล้วสามารถต่ออายุการทำงานได้อีก 2 ปี รวมเป็น 4 ปี หลังจากนั้นต้องกลับประเทศเดิมของตนเอง 3 ปี จึงจะกลับมาทำงานต่อในประเทศไทยใหม่ได้ 

ทั้งนี้ทางกระทรวงแรงงานได้เสนอให้รัฐบาลปรับแก้เอ็มโอยูขยายเวลาเป็น 5ปี และกลับไปประเทศของตนเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น เพื่อประโยชน์ผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ แต่เรื่องนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากมีหน่วยงานภาครัฐบางส่วนเกรงว่าหากมีการปรับแก้ขยายเวลาแล้ว กลุ่มแรงงานเหล่านี้จะตั้งรกรากจนอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการร้องเรียนต่างๆตามมา เช่น การขอสัญชาติไทย และเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ 

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ กล่าวว่า การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในปีนี้ที่เสร็จสิ้นไป มีจำนวนแรงงานข้ามชาติที่มาลงทะเบียนประมาณ 1 ล้านคน แต่ยังถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยกว่าตัวเลขจริงถึง 2 ล้านคน เท่ากับว่าหากมีการจะทะเบียนทั้งหมดจะมีแรงงานข้ามชาติจำนวน 3-4 ล้านคน ซึ่งปัญหาของสังคมไทยขณะนี้ ยังมีเรื่องการมองคนข้ามชาติในแง่ลบ คิดว่าแรงงานเข้ามาแย่งงาน มองคนอย่างไม่มีความเท่าเทียมกัน และการเปิดให้มีการลงทะเบียนแต่ละครั้ง รัฐก็ถูกนายจ้างและผู้ประกอบการบีบ 

“จากการสำรวจค่าครองชีพของแรงงานข้ามชาติใน 5 จังหวัดพบว่าแรงงานมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 5-6 พันบาท ค่าดำรงชีวิต 3-4 พันบาท ค่าขึ้นทะเบียนแรงงานกับนายจ้างหรือค่านายหน้า 500 บาท ค่าถูกจับปรับ 500 บาท เฉลี่ยแล้วแรงงานข้ามชาติแทบจะไม่มีเงินเหลือเลย ดังนั้นสิ่งแรกที่รัฐบาลควรจะเข้ามาดูแล คือเรื่องให้ความเป็นธรรมในเรื่องของกฎหมาย เลิกอุ้ม เลิกสนับสนุนธุรกิจผิดกฎหมาย ที่จะให้แรงงานข้ามชาติทำงาน 24 ชั่วโมง หรือไม่มีวันหยุด ขอให้รัฐเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องค่าแรงที่รัฐจะขึ้นให้ 300 บาทเท่ากับคนไทยหรือไม่ เพราะแรงงานข้ามชาติก็เป็นคนเหมือนกับคนไทย ทำงาน ใช้แรงงานเหมือนกัน” นายสุรพงษ์ กล่าว 

สำหรับปัญหาหลักในแรงงานข้ามชาติ พบว่าผู้ติดตาม และบุตรของแรงงาน ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของการขึ้นทะเบียนแรงงาน จึงไม่ได้ขึ้นทะเบียนราษฎร์ ส่งผลให้ระบบไม่เปิดช่องให้เข้ารับสิทธิการคุ้มครองดูแล ในเรื่องรักษาพยาบาล และสิทธิที่จะอยู่ในเมืองไทยร่วมกับแรงงาน ปัญหาการเปลี่ยนนายจ้างไม่มีความคล่องตัว เพราะนายจ้างเก่าก็ไม่ยอม รวมถึงขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เกิดกับคนพม่า โดยเฉพาะผู้ติดตาม และเด็ก เมื่อไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ ก็จะเข้ามาตกค้างในประเทศไทยค่อนข้างมา แต่หากจะผลักดันให้กับไปประเทศต้นทางก็ลำบาก เนื่องจากประเทศต้นทางเองก็ไม่รองรับการถือสัญชาติของพวกเขา รวมถึงรัฐต้องเข้าไปแก้กฎหมายเรื่องการทำงานคนข้ามชาติ ว่าคนข้ามชาติสามารถทำงานประเภทใดได้บ้าง

ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในพ.ศ.2558 จะมีการเปิดประชาคมอาเซียน รัฐบาลไทย ภาคอุตสาหกรรม โรงงาน การประมง จึงต้องเตรียมการรองรับการเดินทางไปมาหาสู่กับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะจะมีการเปิดเป็นภูมิภาคเดียวกัน เท่ากับว่าแรงงานข้ามชาติในบ้านเราที่มีอยู่หลายล้านคนจะต้องมีการวางแผนจัดการขึ้นทะเบียนให้เป็นระบบมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเก่าสามารถอยู่ได้ และรองรับกลุ่มใหม่ที่กำลังจะเดินทางเข้ามา และเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจับตามองเรื่องค้ามนุษย์ว่าเลวร้ายมาก หากไม่รีบแก้ไข ประเทศสหรัฐเมริกาจะยับยั้งการช่วยเหลือ และกีดกันทางการค้าที่นำเข้าจากประเทศไทย

ขณะที่นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า จากการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติล่าสุดพบว่ามีจำนวนเกือบ 1 ล้านคน แต่ยังมีแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่มาลงทะเบียนจำนวน 3-4 ล้านคน ซึ่งมีการกระจายตัวในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ในปี 2553 มีการประมาณการณ์จำนวนแรงงานที่มีเอกสารทางราชการจำนวน 120,000 คน และคาดว่ามีแรงงานข้ามชาติที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว หมายถึงอาจมีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 300,000 - 400,000 คน 

ทั้งนี้ในวันที่ 26 เม.ย. 2554 ที่ผ่านมา มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ ให้แรงงานข้ามชาติ อายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถมาจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงานได้ และให้บุตรและผู้ติดตามสามารถมาจดทะเบียนราษฎรข้ามชาติ หรือ ทะเบียน ทร. 38/1 กับกระทรวงมหาดไทย ในช่วงวันที่ 15 มิ.ย. - วันที่ 14 ก.ค. 2554 และขยายต่อสำหรับแรงงานลูกเรือประมง ไปจนถึงวันที่ 15 ส.ค. 2554 ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติมาจดทะเบียนขอใบอนุญาตจำนวน 79,215 คน แบ่งเป็นแรงงานพม่า จำนวน 70,508 คน สัญชาติลาว จำนวน 4,490 คน และสัญชาติกัมพูชา จำนวน 4,217 คน

และยังมีเด็กข้ามชาติ อายุ ต่ำกว่า 15 ปี จดทะเบียน ทร. 38/1 กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 1,328 คน แต่ในส่วนของผู้ติดตามแรงงาน และเด็กข้ามชาติ ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยก่อนปี 2554 ก่อนที่จะมีมติครม.ออกมา กลับยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับว่า พวกเขาสามารถขึ้นจดทะเบียนทร38/1 กับกระทรวงมหาดไทยได้หรือไม่ ตรงนี้รัฐต้องให้ความกระจ่าง

นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า หากรวมแรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร ปี 2553 และปี 2554 จะมีแรงงานที่มีเอกสารทางราชการและมีใบอนุญาตทำงานเกือบ 200,000 คน ในจำนวนนี้ปะสบปัญหาหลายอย่างในการทำงาน และการดำรงชีวิต ปัญหาเรื่องการถูกจับ เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตทำงาน ดูจะเป็นปัญหารองทันทีเมื่อ ปี 2553 เกิดปัญหาแรงงานข้ามชาติถูกยัดข้อหาเล่นหวยเถื่อน 

“ในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แรงงานข้ามชาติแทบจะไม่อยากอยู่บ้าน เพราะถูกจับยัดข้อหาหวย ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้เล่น แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจค้นห้องพัก ทั้งที่ไม่มีหมายค้น เจ้าหน้าที่จะเข้าไปค้นกระดาษเมื่อพบว่ามีการจดเป็นตัวเลข ซึ่งอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน เจ้าหน้าที่ก็ฉีกกระดาษออกมาแล้วบอกว่านี่คือหวยเถื่อน บางคนแอบเอาโพยจดหวยเข้าไปวางไว้ใต้ฐานพระบ้าง ใต้สมุดบ้าง ซึ่งถ้าหากแรงงานที่ถูกจับหรือญาติ ไม่อยากติดคุก ก็จะยอมจ่ายครั้งละ 1 หมื่น ถึง 1.5 หมื่นบาท นอกจากเรื่องยัดหวยแล้ว แรงงานข้ามชาติที่ซื้อดอกไม้มาบูชาพระ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า เขาเสพกัญชา ใบกระท่อม หรือถ้าห้องไหนมีคอมพิวเตอร์ ก็จะยึดทันที โดยให้เหตุผลว่า มีคอมพิวเตอร์ไว้ดูวีดีโอโป๊ ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้คำนึงเลยว่า แรงงานข้ามชาติต้องการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสื่อสารกับประเทศต้นทางของเขา"

"นอกจากนี้หากไม่มีเรื่องจะจับหรือเรียกรับผลประโยชน์ เจ้าหน้าที่ก็จะใช้ไม้ตายคือ ยึดเอกสารที่ทางราชการออกให้ คือพาสปอร์ต ยิ่งคนที่เพิ่งเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ยังพูดภาษาไทยไม่ได้ ยิ่งเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่ แล้วแรงงานก็ถูกเรียกเก็บเงิน ถ้าไม่มีเงินให้ก็จับไปที่โรงพัก ซึ่งในส่วนของปัญหาถูกจับเพราะไม่มีพาสปอร์ตทางเราสามารถช่วยได้ แต่หากเป็นเรื่องยัดหวยเถื่อนเป็นเรื่องยากที่เราจะช่วยได้ เพราะเจ้าหน้าที่มีหลักฐาน ถ้าไม่ยอมจ่ายเงินก็ต้องขึ้นศาลอย่างเดียว เหล่านี้เป็นปัญหาที่ผมได้รับการร้องเรียนมาจากแรงงานข้ามชาติมานับไม่ถ้วน ” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ. สมุทรสาคร เชื่อว่าในพื้นที่อื่นๆ ก็คงจะเกิดปัญหาที่แตกต่างกันออกไป หนทางแก้ไขก็คงจะอยู่ที่จิตสำนึกของเจ้าหน้าที่ และรัฐบาลเองก็ต้องเอาใจใส่ และส่งเสริมผู้ใช้แรงงานข้ามชาติเหมือนกับที่ดูแลแรงงานไทย สื่อมวลชนก็เป็นส่วนสำคัญมากที่จะช่วยเผยแพร่ประเด็นปัญหาดังกล่าวออกไป เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะคนที่เข้ามาทำงาน พวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนพวกเรา หากได้รับการศึกษาที่ดีพวกเขาก็จะใช้สมองในการทำงานมากขึ้น รวมถึงต้องให้ข้อมูลเรื่อง การอยู่ร่วมกัน การใช้สาธารณะประโยชน์ร่วมกัน ว่าต้องช่วยกันดูแลรักษาอย่างไร ช่วยกันรักษาความสะอาด เก็บขยะ ดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

 

 
Copyright © 2024. Anti Labor Trafficking - โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน.